ฝ้าพันธุกรรม ปัญหาชวนหนักใจ รักษาให้หายได้หรือเปล่า
ฝ้า (Melasma) เป็นปัญหาผิวที่น่าหนักใจของคนทุกเพศ โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่ฝ้า กระ และจุดด่างดำจะเริ่มถามหา เนื่องจากฝ้าที่เห็นรอยปื้นสีน้ำตาลอ่อน-เข้ม จนถึงดำบนใบหน้า จะทำให้ผิวดูไม่เรียบเนียนสม่ำเสมอ และทำให้คนส่วนใหญ่เสียความมั่นใจได้ รวมถึงการรักษาฝ้าให้หายขาด 100% ก็ทำได้ยาก นอกจากนี้ บางคนอาจไม่ทราบว่าพันธุกรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเกิดฝ้าได้เช่นกัน ทำให้หลายคนที่อายุยังน้อย แถมปกป้องผิวจากแสงแดดอย่างดี ก็มีโอกาสเกิด ฝ้าพันธุกรรม ได้ วันนี้เราเลยจะมาเจาะลึกถึงเรื่องฝ้าพันธุกรรม ความเสี่ยง การป้องกัน ตลอดจนแนะนำวิธีการรักษาฝ้าที่ได้ผลดีด้วย
ทำความรู้จักกับ ฝ้าพันธุกรรม
พันธุกรรมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อการเกิดฝ้า โดยมีรายงานว่าราว 50% หรือครึ่งหนึ่งของคนที่มีฝ้าบนใบหน้า จะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นฝ้าด้วยเหมือนกัน เรียกได้ว่าใครที่มีพ่อแม่ พี่น้อง หรือปู่ย่าตายายที่มีฝ้า ก็มีโอกาสจะเผชิญกับปัญหาหน้าเป็นฝ้าได้มากกว่าคนอื่น ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากภาวะที่มีการผลิตเม็ดสีเมลานินมากผิดปกติจนก่อให้เกิดฝ้านั้น เป็นลักษณะที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้นั้นเอง
ฝ้าพันธุกรรมนั้นอาจพบได้ทั้งแบบ ฝ้าตื้น ซึ่งเป็นฝ้าที่เกิดบริเวณผิวหนังชั้นบนหรือชั้นหนังกำพร้า ทำให้มีลักษณะเข้มและมีขอบชัด และแบบ ฝ้าลึก ซึ่งเกิดกับผิวหนังชั้นล่างลงมา และมีเม็ดสีบางส่วนตกค้างอยู่ในชั้นหนังแท้ ทำให้มักมีสีอ่อน ขอบไม่ชัด และอาจเห็นเป็นสีม่วงอมน้ำเงิน โดยคนส่วนใหญ่มักมีฝ้าหลายแบบผสมกันบนใบหน้า
นอกเหนือจากเรื่องพันธุกรรมแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก ที่อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดฝ้าได้ ได้แก่…
- เพศ: โดยผู้หญิงมีโอกาสเกิดฝ้าได้มากกว่าผู้ชาย
- สีผิว: คนที่มีผิวคล้ำ หรือเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ต้องสัมผัสกับแสงแดดมาก ๆ จะมีโอกาสเกิดฝ้าได้มากกว่า
ใครบ้างเสี่ยงต่อการเป็น ฝ้าพันธุกรรม
แน่นอนว่าคนที่มีประวัติคนในครอบครัวหรือญาติสายตรงเป็นฝ้า ก็มักมีโอกาสเกิด ฝ้าพันธุกรรม ได้มากกว่าคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น คนที่เริ่มมีปัญหาฝ้าขึ้นมาบนใบหน้า ส่วนใหญ่จะสังเกตได้ว่าสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวก็มีฝ้าเช่นกัน หรือหากพ่อแม่มีปัญหาฝ้าอย่างรุนแรง ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าปัญหาฝ้าจะถูกสืบทอดมาสู่รุ่นลูกด้วย นั่นก็เพราะร่างกายมีแนวโน้มจะเกิดการสร้างเม็ดสีผิดปกติได้มากกว่าคนที่ไม่มีพันธุกรรมมาก่อน อย่างไรก็ตาม พันธุกรรมก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อการเกิดฝ้าพันธุกรรม ซึ่งยังมีตัวแปรสำคัญอื่น ๆ อีกที่ส่งเสริมให้เกิดฝ้าชนิดนี้ เช่น การสัมผัสกับรังสี UV การสัมผัสมลพิษ ความผิดปกติของฮอร์โมน รวมไปถึงการตั้งครรภ์ เป็นต้น
ฝ้าพันธุกรรมรักษา ได้อย่างไร
ฝ้าเป็นปัญหาที่ยากจะรักษาให้หายขาด แต่ก็มีวิธีมากมายที่สามารถบรรเทาหรือลดเลือนฝ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างการ รักษาฝ้า ที่ค่อนข้างเป็นที่นิยม ได้แก่
- การใช้ครีม/ยา รักษาฝ้า: สกินแคร์หลายตัวประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ที่สามารถลดความเข้มของเม็ดสีและทำให้ฝ้าแลดูจางลงได้ ตัวอย่างเช่น อาร์บูติน และวิตามิน ซี ซึ่งจะเห็นผลลัพธ์ได้ค่อนข้างช้ากว่าการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ ส่วนการใช้ยาที่มีกลไกต่าง ๆ ในการลดเลือนฝ้า เช่น ยาที่ลดการสร้างเม็ดสี/ทำลายเม็ดสี หรือยากระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว ก็เป็นอีกวิธีที่นิยมใช้ในการรักษาฝ้าตื้น อย่างไรก็ตาม การทายาก็มีโอกาสทำให้ผิวระคายเคืองได้ จึงต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น อีกทั้งการใช้ยารักษาฝ้าเพียงอย่างเดียวก็เห็นผลค่อนข้างช้าด้วย
- การทำเลเซอร์ลดเลือนฝ้า: การเลเซอร์เป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาฝ้ายอดฮิตที่ค่อนข้างตรงจุด อีกทั้งยังมีชนิดของเลเซอร์และเครื่องให้เลือกหลากหลายแบบ โดยลำแสงเลเซอร์จะเข้าไปทำลายเม็ดสีเมลานินในบริเวณที่เป็นฝ้า แถมยังกระตุ้นให้ผิวหน้ามีการสร้างคอลลาเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การทำเลเซอร์ถือเป็นรักษาที่ปลายเหตุ เพราะแม้จะทำลายเม็ดสีไป แต่ก็ยังมีเม็ดสีใหม่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการทำเลเซอร์หลายครั้งยังเสี่ยงทำให้ผิวบาง เกิดความระคายเคือง แสบ แดงได้ง่าย และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดฝ้าใหม่ได้อีกด้วย การเลเซอร์ลดเลือนฝ้าจึงมักใช้เป็นวิธีการรักษาเสริม ควบคู่กับการรักษาฝ้าด้วยวิธีอื่น ๆ
- การลอกผิว: เป็นการใช้สารเคมีจำพวก peeling agent ในการกำจัดเม็ดสีในชั้นผิว รวมถึงการใช้กรด AHA เพื่อเร่งการผลัดเซลล์ผิว ซึ่งจะช่วยให้ผิวหน้ามีความเรียบเนียนสม่ำเสมอยิ่งขึ้นได้ และช่วยให้ฝ้าดูจางลงได้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การลอกผิวด้วยสารที่มีฤทธิ์แรงก็อาจส่งผลให้ผิวมีการอักเสบ ระคายเคือง หรือมีความไวต่อแสงได้ รวมถึงการลอกผิวเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่ช่วยให้ฝ้าจางลงมากนัก
- การฉีดรักษาฝ้า: การรักษาด้วยการฉีดฝ้าเป็นการใช้สารชนิดต่างๆ ฉีดเข้าไปยังผิวหน้าเพื่อลดเลือนฝ้าที่มีอยู่เดิมให้จางลง พร้อมกับช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีที่นำไปสู่การเกิดฝ้าใหม่ การฉีดฝ้านั้นมีด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น การฉีดเมโสสลายฝ้า-กระ และการฉีดรักษาฝ้าโดยใช้เทคนิคเซลล์ซ่อมเซลล์ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ฝ้า กระ และจุดด่างดำจางลงได้แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ช่วยให้ผิวมีความแข็งแรงและดูอ่อนเยาว์ยิ่งขึ้น จึงนับว่าเป็นการจัดการกับปัญหาฝ้าทั้งที่ต้นเหตุและปลายเหตุในคราวเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การฉีดรักษาฝ้าเป็นวิธีทางการแพทย์ที่จะต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในคลินิกที่น่าเชื่อถือเท่านั้น
ป้องกันการเกิด ฝ้าพันธุกรรม ได้อย่างไรบ้าง
ปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรม รวมไปถึงเพศและสีผิว เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม คนที่มีพันธุกรรมเสี่ยงต่อการเกิดฝ้าก็ยังสามารถป้องกันหรือลดโอกาสเกิดฝ้าที่รุนแรงได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงข้ออื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น…
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน เนื่องจากรังสี UV เป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เกิดฝ้าได้ หากจำเป็นต้องโดนแดดนานๆ ก็ควรปกป้องผิวด้วยอุปกรณ์อย่างหมวกหรือร่มกันแดด
- ต้องทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน แม้แต่วันที่ไม่ได้ออกแดดจัด โดยควรเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดที่สามารถป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB และมีค่าการกันแดดที่สูงเพียงพอ เช่น มีค่า SPF50+ PA+++ ขึ้นไป รวมถึงควรทาให้ได้ในปริมาณที่เพียงพอและทั่วถึง และในกรณีที่ต้องออกไปเผชิญแสงแดด ก็ควรทาซ้ำทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงด้วย
- หลีกเลี่ยงการใช้สกินแคร์ที่ประกอบด้วยสารอันตราย อย่างเช่น สารปรอท ไฮโดรควิโนน หรือสเตียรอยด์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดฝ้าบนใบหน้าได้
- ระวังการใช้ยาที่อาจกระตุ้นให้เกิดฝ้า เช่น ยาคุมกำเนิด หรือยาที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน โดยการใช้ยาเหล่านี้ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์
สรุป
แม้ปัญหาฝ้าพันธุกรรมจะหลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากเป็นปัจจัยแต่กำเนิดที่เราแก้ไขไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดฝ้าได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงข้ออื่น ๆ แต่ในกรณีที่เกิดฝ้าขึ้นแล้ว เราก็สามารถมองหาวิธีรักษาฝ้าที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพได้ เช่น การฉีดรักษาฝ้าด้วยเทคนิคเซลล์ซ่อมเซลล์ ควบคู่ไปกับการใช้สกินแคร์ที่ปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดเลือนฝ้าให้ดูจางลง จนเรียกความมั่นใจของเราให้กลับมาได้อีกครั้ง
บทความนี้เขียนโดย แพทย์หญิงธนิดา วรวิวัชร์ (หมอใบเฟิน) แพทย์ศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้ง Chuladoctor Clinic เแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย, การปรับรูปหน้าและเทคนิค SMAPS ขั้นสูง